อพท. นำคณะ ช.ส.ท. ผนึกภาคี สร้างการรับรู้ สุพรรณบุรี พร้อมชิงเมืองสร้างสรรค์โลก …

อพท. นำคณะ ช.ส.ท. ผนึกภาคี สร้างการรับรู้ สุพรรณบุรี พร้อมชิงเมืองสร้างสรรค์โลก

อพท. ประกาศความพร้อม ดัน “ สุพรรณบุรี ” เข้ากลุ่มสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีจากยูเนสโก้ จับมือภาคีเครือข่ายสร้างการรับรู้กลิ่นอายของดนตรีเชิงลึกจากอดีตถึงปัจจุบัน ชูอัตลักษณ์แหล่ง รวมครูเพลง ศิลปินและเพลงพื้นบ้าน มั่นใจใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือยกระดับเมืองสู่สากลดึงดูดนักท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนท้องถิ่น

จากความโดดเด่นเรื่องเพลงพื้นบ้านอีแซวของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่สืบทอดและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น สะท้อนถึงความผูกพันศาสตร์ดนตรีของผู้คนในจังหวัดนี้ที่มีอยู่ในสายเลือดสืบทอดกันมา ซึ่งเป็นต้นทุนทางด้านดนตรีบวกกับปูชนียบุคคลทางด้านดนตรีระดับสุดยอด กลายเป็นสายธารดนตรีที่ยิ่งใหญ่ 5 สายธาร “ เบญจภาคีดนตรีสุพรรณ ” ได้แก่ เพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต และเพลงสตริงป๊อปร็อค ถึงวันนี้ยังถูกถ่ายทอดโดยศิลปินคนท้องถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรีอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนให้สุพรรณบุรี เป็นเมืองดนตรี (Music City)

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เล็งเห็นความสำคัญอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในวิถีชีวิตที่มีเพลงและดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนสุพรรณบุรีตั้งแต่เกิดจนตายอย่างมากมาย จึงมีแนวคิดที่จะยกระดับการพัฒนาเมือง โดยใช้ดนตรีเป็นเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็นเมือง ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จึงร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา ภาคีเครือข่ายศิลปิน ผู้ประกอบการด้านดนตรี และชุมชนในจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาเมือง นำไปสู่การเสนอตัวเข้าสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของยูเนสโก

ดร.สมจินต์ ชาญกระบี่ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 7 กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดสุพรรณบุรีอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม สู่การเป็นเมืองดนตรี ด้วยการสร้างการรับรู้ในเรื่องศิลปะดนตรี เพลงพื้นบ้าน และดนตรีร่วมสมัย เพื่อก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ยกระดับและผลักดันจังหวัดสุพรรณบุรี ให้ได้รับการคัดเลือก เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) ภายในปี 2564 ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยวและประเทศไทย ได้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เกิดการไหลเวียน ของการเดินทางจากประเทศสมาชิกและภาคีเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จากทั่วโลกกว่า 80 ประเทศ มาจัดกิจกรรม ประชุม สัมมนา ศึกษาดูงาน และทำกิจกรรมต่างๆ ช่วยผลักดันธุรกิจสร้างสรรค์ในประเทศและท้องถิ่นกับตลาดโลก และยังนำไป สู่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ นักพัฒนาเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในท้องถิ่น อัตลักษณ์ของจังหวัด และของประเทศให้ได้อยู่ในกระแสความสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวที่กำลังตัดสินใจเดินทางเข้ามาในอนาคต

“ จังหวัดสุพรรณบุรี มีรากฐานและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมทางด้านดนตรีที่เข้มแข็ง และผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นมายาวนานทั้งศิลปะ ดนตรีพื้นบ้าน ภาษาท้องถิ่น ที่มีเอกลักษณ์ และยังเป็นจังหวัดที่ผลิตบุคลากรทางด้านดนตรีที่มีความสาคัญของประเทศมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นปูชนียบุคคลทางด้านดนตรี และศิลปินแห่งชาติของประเทศ หรือศิลปินนักดนตรีรุ่นใหม่ทั้งเพลงลูกทุ่งและเพลงไทยสากล ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังมีสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรเฉพาะด้านดนตรี มีแหล่งบ่มเพาะทางวัฒนธรรมดนตรี มีพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะ มีโรงละครแห่งชาติที่มีมาตรฐานในระดับสากล สุพรรณบุรีจึงมีความพร้อมทางด้านดนตรีที่โดดเด่นและเหมาะสม ที่จะนำเสนอสู่สายตาคนทั้งประเทศและทั่วโลก ให้เกิดการยอมรับ ” ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 7 กล่าว

ทั้งนี้การใช้อัตลักษณ์ด้านดนตรี เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง ทำให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ที่มีต่อการพัฒนานโยบายในระดับท้องถิ่นผ่านกิจกรรมดนตรี เป็นอีกแนวคิดหนึ่งของการทำงานเพื่อการพัฒนา ให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้แนวทางการทำงานตามแนวทาง การร่วมคิดร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ ที่ อพท. ใช้เป็นเครื่องมือต่อการพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยตรง

จับมือภาคีเครือข่ายสร้างการรับรู้ อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ การสร้างกระแสความรับรู้ในการผลักดันจังหวัดสุพรรณบุรี ให้ได้เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของยูเนสโก อพท.7 จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการสำรวจและรวบรวมข้อมูลด้านดนตรีของจังหวัดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวบรวมครูเพลง ครูดนตรี และศิลปินเพลง ศิลปินดนตรีที่มีบ้านเกิดอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยจะนำเสนอแผนนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งคาดว่าจะมีผลตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

และเพื่อสร้างการรับรู้ในกลิ่นอายของเมืองดนตรี ยังได้จัดกิจกรรม โครงการ “ อบรมความรู้เชิงปฏิบัติการวัฒนธรรมดนตรี-นาฏศิลป์อาเซียนในภูมิภาค พ.ศ.2563 ” (Workshop ASEAN Music & Dance Connectivity 2020) เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านดนตรีของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยได้เชิญครูผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี และนาฏศิลป์จากอาเซียน 10 ประเทศจำนวน 20 ท่าน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูดนตรีและนาฏศิลป์ในจังหวัดสุพรรณบุรี มากกว่า 200 คน เมื่อครูและบุคลากรด้านดนตรีได้เรียนรู้ ก็นำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้แก่เยาวชนต่อไป เกิดเป็นความยั่งยืน ซึ่งผลจากการอบรมครั้งนี้ ครูดนตรีในจังหวัดสุพรรณบุรีได้สร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาค และเข้ามาต่อยอดการพัฒนาดนตรีสร้างสรรค์ของจังหวัดสุพรรณบุรีร่วมกัน ภายใต้กิจกรรม “ Work Shop ดนตรีสร้างสรรค์ ” โดยร่วมกับโรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยสุพรรณบุรี นักดนตรีอาชีพ นักดนตรีอิสระ พัฒนาดนตรีสร้างสรรค์ Contemporary Music (ดนตรีร่วมสมัย) เป็นครั้งแรกร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรม “ สิบรอบปี ครูมนตรี ตราโมท ความรุ่งโรจน์แห่งดนตรีสยาม ” เพื่อรำลึกถึงครูมนตรี ตราโมท คีตกวี 5 แผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ในวาระ 120 ปี ภายในงานได้จัดนิทรรศการเชิดชูเกียรติคุณ ผลงาน และเกียรติประวัติ ณ คุ้มขุนแผน วัดแค จังหวัดสุพรรณบุรี

อีกทั้ง อพท.7 ยังมีแผนจะดำเนินการตอกย้ำจุดแข็งทางด้านดนตรีให้แก่จังหวัดสุพรรณบุรี ที่จะสร้างการรับรู้ความเป็นกลิ่นอายของเมืองดนตรีให้แก่ผู้มาเยือนจังหวัดสุพรรณบุรีได้สัมผัสถึงบรรยากาศ อาทิ กิจกรรมดนตรีในสวน (Music in the garden) กิจกรรมการแสดงดนตรีร่วมสมัย (Contemporary Music) ลานดนตรีสาธารณะ (Open Space : Music) หอเกียรติยศศิลปินดนตรี (Hall of Frame) Landmark & Soundmark ตามจุดท่องเที่ยวต่างๆในสุพรรณบุรี หอดนตรีเพื่อกระจายเสียงตามสายในรูปแบบดนตรีบรรเลง ต่างๆ เป็นต้น และในปี 2564 จะร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ จัดงานมหกรรมดนตรีนานาชาติ โดยจะประยุกต์ให้เข้ากับยุค New Normal เพื่อแสดงถึงศักยภาพ การสร้างสรรค์ด้านดนตรีของจังหวัดสุพรรณบุรี การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และจะนำเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีอื่นๆจากทั่วโลกเข้าร่วมกิจกรรมด้วย เพื่อดึงศักยภาพจากฐานทุนทางวัฒนธรรม ด้านดนตรีที่โดดเด่นของจังหวัดสุพรรณบุรี ให้เกิดการรับรู้ในระดับสากลต่อไป

อัฐวุฒ เหลืองสอาด – รายงาน

Share: