กรมควบคุมโรค รณรงค์ป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ เตรียมพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว เผยเป็นสาเหตุการตายอันดับสองในกลุ่มการบาดเจ็บโดยไม่ได้ตั้งใจ 4 ปีมีผู้สูงอายุบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มกว่า 2 แสนครั้ง และเสียชีวิตปีประมาณ 1,000 รายหรือเฉลี่ยวันละ 3 ราย ชี้ปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวยังคงอยู่กับปัจจัยเสี่ยง แนะประเมิน ปรับเปลี่ยนและส่งเสริม เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและความพิการที่อาจเกิดขึ้น
วันนี้ (9 พฤษภาคม 2561) ที่สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุที่สำคัญ คือ การบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้ม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 11 ล้านคน (ร้อยละ 16.5) ซึ่งใกล้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ (ร้อยละ 20) ในปี 2564 กรมควบคุมโรคได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหา จึงได้ดำเนินการกำหนดมาตรการการป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ เพื่อประเมินความเสี่ยงและปรับแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
การพลัดตกหกล้มเป็นปัญหาสำคัญที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองในกลุ่มการบาดเจ็บโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในทุกกลุ่มอายุปีละเกือบ 2,000 คน โดยครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ (เฉลี่ยวันละ 3 คน) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มผู้สูงอายุจะมีการหกล้มทุกปี และร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุที่พลัดตกหกล้มจะได้รับบาดเจ็บ โดยในปี พ.ศ. 2556 – 2559 มีจำนวนผู้สูงอายุที่บาดเจ็บแจ้งขอใช้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยกว่า 5 หมื่นครั้ง/ปี หรือกว่า 140 ครั้ง/วัน ทั้งนี้ การพลัดตกหกล้มยังส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ พิการเป็นผู้ป่วยติดเตียงและรุนแรงจนเสียชีวิตได้ สาเหตุของการพลัดตกหกล้มส่วนใหญ่มาจากการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาดบนพื้นระดับเดียวกันมากถึงร้อยละ 62 และร้อยละ 6 เกิดจากการตกหรือล้มจากบันไดและขั้นบันไดรวมถึงความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุเกือบครึ่งหนึ่งยังต้องเดินขึ้นลงบันได และเดินบนพื้นบ้านที่ลื่น
การบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ สามารถป้องกันได้โดย 1.การประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม 2.เลือกสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม พื้นมีดอกยาง ไม่ลื่น 3.ปรับสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยกับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุโดยการติดราวจับในห้องน้ำ ภายในบ้านและบริเวณรอบบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 25 ที่มีการปรับเปลี่ยนบ้านหรือสิ่งแวดล้อมให้เกิดความปลอดภัย และ 4.ส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้าม เช่น การเดิน รำไม้พลอง รำมวยจีนรำไทเก๊ก เป็นต้น
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรณรงค์ป้องกันการพลัดตกหกล้มได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย สำนักอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ฝ่ายเวชศาสตร์พื้นฟู โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ทีม Care solution manager จาก SCG สหพันธ์ชมรมผู้สูงอายุ จ.กรุงเทพมหานคร ชมรมผู้สูงอายุชุมชนวัดชมภูเวก นนทบุรี และประชาชนทั่วไปที่ร่วมมือในการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ประชาชนและผู้สูงอายุสามารถประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มออนไลน์ได้ด้วยตนเองทาง www.thaincd.com หรือผ่านทาง Application แบบประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ทั้งระบบ android และ IOS หรือสามารถเข้ารับบริการประเมินความเสี่ยงที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422