วช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดงานฟอรั่มไม้มีค่า “สร้างเสน่ห์ชุมชนสีเขียว: Enchanting Green Community” ผสานพลังความร่วมมือเพื่อสนับสนุน “ไม้มีค่า” ให้เกิดการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของไทย
วันที่ 16 มกราคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ หน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดงานฟอรั่มไม้มีค่า “สร้างเสน่ห์ชุมชนสีเขียว: Enchanting Green Community” เพื่อผลักดันให้เกิดการนำผลงานโครงการชุมชนไม้มีค่าไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมนี้ คณะผู้บริหาร วช. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ให้การต้อนรับ และร่วมรับฟังบรรยายพิเศษ เรื่อง “ชุมชนไม้มีค่า เพิ่มป่า เพิ่มรายได้ให้ชุมชน” โดย ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนชุมชนไม้มีค่า และมีผู้บริหารจากหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ผู้นำชุมชน นิสิต นักศึกษา และสื่อมวลชน ให้ความสนใจเข้าร่วมงานดังกล่าวจำนวนมาก ณ ห้อง World Ballroom ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กรมป่าไม้ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดงานฟอรั่มไม้มีค่า “สร้างเสน่ห์ชุมชนสีเขียว: Enchanting Green Community” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ร่วมขับเคลื่อน เครือข่ายผู้ใช้ประโยชน์
รวมถึงประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสร้างโอกาสการพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะและผลักดันให้มีการนำผลงานเหล่านั้นไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่/ชุมชน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญของความสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่าให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้าง และการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิธีประกาศเกียรติคุณ “ชุมชนไม้มีค่า” ระดับประเทศ รวมทั้งการสร้างทูตเยาวชน “ชุมชนไม้มีค่า” การจัดงานฟอรั่มไม้มีค่าในครั้งนี้ ถือเป็นการผสานพลังความร่วมมือและบูรณาการที่เชื่อมโยงกันจากทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งส่งผลทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถลดจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างความสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืนต่อไป
ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว กล่าวในการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ชุมชนไม้มีค่า เพิ่มป่า เพิ่มรายได้ให้ชุมชน” ว่า ถ้าเราไม่ใช้ป่าชุมชนมาแก้ปัญหาเรื่องป่าไม้จะมีความลำบากในอนาคต ซึ่งวาระสำคัญของของโลก ต้องก้าวข้ามปัญหาวิกฤตที่ครอบคลุมอยู่สี่ประเด็นสำคัญ ประเด็นแรก คือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ หรือ สภาวะโลกร้อน ประเด็นที่สอง คือ การเป็นสมาชิก UN เราต้องมีการรายงานเป้าหมายเรื่องคาร์บอน
ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามที่จะมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน จึงต้องมีพื้นที่สีเขียวที่เป็นที่กักเก็บคาร์บอน ประเด็นที่สามเรื่อง การกำหนดพื้นที่ป่าไม้ให้ชัดเจน ประเทศไทยตั้งเป้าหมายว่าต้องมีป่าไม้ร้อยละ 40 ถึงจะสามารถพัฒนาสู่ความยั่งยืนได้ ปัจจุบันป่าอนุรักษ์ถือว่ามีเพียงพอ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือป่าเศรษฐกิจ ที่มีเพียงร้อยละ 15 หรือประมาณ 48 ล้านไร่ จึงต้องนำโครงการนี้ไปดำเนินการผลักดัน และต้องวางเป้าหมายภายใน 10 ปีข้างหน้า
เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจที่ขาดอยู่ ประเด็นที่สี่ คือ การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้สอดรับในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่เน้นเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้เกษตรกรได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ โดยแผน 10 ปี จะต้องยกระดับรายได้ 2.6 ล้านครัวเรือน มีต้นไม้ 1,040 ล้านต้น มีป่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ คิดมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่ในการปลูกป่าชุมชนของประเทศไทยถือว่าได้เปรียบสามารถปลูกป่าได้ทุกที่ทุกระดับของประเทศ
ภายในงานฯ จัดให้มีพิธีมอบประกาศเกียรติคุณ “ชุมชนไม้มีค่า” ระดับประเทศ จำนวน 17 ชุมชน การเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ การเสวนา “ชวนคุยชวนคิด: ปลูกไม้มีค่าจากต้นกล้า สู่ Carbon Neutrality”, การเสวนา “ไม้มีค่า…จากป่าสู่คน…ชุมชนยั่งยืน…พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย” และการแข่งขันเทคนิคการพูด “สร้างทูตเยาวชน” ชุมชนไม้มีค่า ครั้งที่ 1 (1st TED Talks & Guardians of the Forest) นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของหน่วยงานบูรณาการขับเคลื่อน 4 หน่วยงาน และชุมชนที่ได้รับประกาศเกียรติคุณ ดีเด่น 8 ผลงาน รวม 12 ผลงาน
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ได้มอบหมายให้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กรมป่าไม้ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการขับเคลื่อน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำนวน 5 กลไกหลัก ได้แก่ 1) การปลดล็อกทางกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง 2) การเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์กล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ 3) การวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน 4) การขยายผลในพื้นที่ทั่วประเทศไทย และ 5) การประเมินมูลค่า การตลาด และแปรรูป จนสามารถผลักดันให้เกิดการนำผลงานโครงการชุมชนไม้มีค่าไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแพร่หลายและเป็นรูปธรรม ผ่านการจัดงานฟอรั่มไม้มีค่า “สร้างเสน่ห์ชุมชนสีเขียว: Enchanting Green Community” ในครั้งนี้