สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช)ปลื้มลืมเหนื่อย ปิดฉากงาน “วันนักประดิษฐ์2024” สุดประทับใจ เหล่านักประดิษฐ์รุ่นใหม่จากทั่วประเทศร่วมลุ้นผลรางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน
I-New Gen Award 2024 “ตัวโก่ง” ผลรางวัลปีนี้กระจายทั่วทุกภูมิภาค วช.มั่นใจพร้อมปูทางนักประดิษฐ์รุ่นใหม่สู่การเป็นนวัตกรมากคุณภาพในวันหน้า
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ไบเทคบางนา -สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567” และ มอบรางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน ในโครงการ Thailand New Gen Inventor Award : I-New Gen Award 2024 สุดอลังการท่ามกลางการลุ้นรางวัล ร่วมเชียร์ และร่วมลุ้นผล ส่งเสียงกึกก้องทั่วทั้งฮอลล์ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานมอบรางวัล พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะผู้บริหารสำนักงานการวิจัยแห่งชาติร่วมยินดี ณ เวทีกลาง Event Hall 100 – 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 จัดขึ้นเป็นปีที่ 25 ความสำเร็จของการจัดงาน “วันนักประดิษฐ์”ในปีนี้ นอกจากจะเป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่เกิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชน แล้ว ยังเป็นเวทีที่จุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจในด้านการประดิษฐ์คิดค้น ให้แก่เยาวชน รุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ เป็นฟันเฟืองในการพัฒนาประเทศให้ก้าวต่อไปข้างหน้า
การจัดงานในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ จะได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันประสบการณ์การวิจัย การประดิษฐ์คิดค้น สู่การนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาผลงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีไฮไลท์ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานอย่างเนืองแน่น ตลอดระยะเวลาการจัดงานคือ โซนแสดงผลงานในโครงการ Thailand New Gen Inventors Award หรือที่รู้จักกันว่ารางวัล I-New Gen แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซนเพื่อแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์จากนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยม อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ในปีนี้คัดเลือกผลงานจากสถาบันการศึกษาต่างๆจากทั่วประเทศกว่า 1,000 ผลงาน 330 สถาบัน และผ่านการพิจารณาคัดเลือกเพื่อนำผลงานมาจัดแสดงภายในงานวันนักประดิษฐ์ จำนวน 650 ผลงาน ซึ่งนอกจากจัดแสดงผลงานแล้ว ทุกทีมจะต้องแสดงวิศัยทัศน์เกี่ยวกับแนวคิด วิธีการ เทคนิคต่างๆต่อหน้าคณะกรรมการบนเวที และมีคณะกรรมการลงคะแนนเพิ่มเติม ณ บริเวณบู้ธตลอดระยะเวลาการจัดงานอีกด้วย
ในปีนี้มีทีมที่ได้รับรางวัลในประเภทต่างๆดังนี้ รางวัลชนะเลิศระดับอุดมศึกษา ด้านเกษตร ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงาน ปูนควบปุ๋ย 2-in-1 : ผลิตภัณฑ์ปรับสภาพดินเปรี้ยวและเติมแร่ธาตุหลักในขั้นตอนเดียวกันอย่างสร้างสรรค์ด้วยไบโอไมโครแคลเซียมคาร์บอเนต ด้านอาหาร ได้แก่ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ผลงาน อีเอสเอ็ม-โปร : อาหารเสริมโปรตีนจากเยื่อเปลือกไข่สำหรับสัตว์เลี้ยง ด้านการแพทย์ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงาน CelloCuprous: อนุภาคนาโนคิวปรัสออกไซด์ที่เพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะด้วยเซลลูโลสอสัณฐานสำหรับสร้างพื้นผิวปลอดเชื้อ ด้านพลังงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลงาน “PACS: วัสดุพิมพ์สามมิติสำหรับการกำจัดสีย้อม”ด้านท่องเที่ยว ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “มู-เต-ลาย” กิจกรรมศิลปะเชิงความเชื่อที่ส่งเสริมการเห็นคุณค่าของทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
รางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา ได้แก่ ด้านเกษตร ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคตรัง ผลงาน อุปกรณ์ช่วยถอดประกอบใบตัดหญ้าผลงาน ด้านอาหาร วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก อุดรธานี ผลผงาน KUTC แครกเกอร์ข้าวหลามอบกรอบ ด้านการแพทย์ ได้แก่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดชลบุรี ผลงาน แบบจําลองสมุนไพร 3 มิติ สู่การเป็นสวนสมุนไพรเสมือนจริงเพื่อใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์ของพืช ด้านพลังงาน ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพบ้านแพ้ว ผลงาน เครื่องลดฝุ่นควันเตาเผามะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว ด้านท่องเที่ยว ได้แก่ กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ผลงาน เครื่องประดับร่วมสมัยลายอัตลักษณ์ปูรณฆฏาศรีทวาราวดี
รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ ด้านเกษตร ได้แก่ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ ผลงาน นวัตกรรมไฮโดรเจลสมุนไพรสำหรับป้องกันโรคเต้านมโคอักเสบ ด้านอาหาร โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ผลงาน บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพรักษ์โลกจากเปลือกทุเรียนและชะลอการเติบโตของแบคทีเรียด้วยสารสกัดจากสมุนไพรไทย พร้อมตัวชี้วัดการเน่าเสีย ของอาหารสดจากดอกต้อยติ่ง ด้านการแพทย์ ได้แก่ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ ผลงาน ระบบแจ้งเตือนการหลับในด้วยการสแกนใบหน้าและดวงตา ด้านพลังงาน ได้แก่ โรงเรียนชลราษฎรอำรุง รถสำรวจอัจฉริยะ เพื่อศึกษาและติดตามพฤติกรรมการวางไข่ของ เต่าตนุ ด้านท่องเที่ยว ได้แก่ นวัตกรรม “กระสวยทอผ้าอัตโนมัติ” เพื่อพัฒนาและต่อยอดภูมิปัญญาการทอผ้าของกลุ่มเลี้ยงทอไหมบ้านดงพลอง และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอำเภอจักราช
ความสำเร็จในวันนี้ นับเป็นอีกหนึ่งวันปิติของคณะผู้จัดงานโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมถึงเหล่าคณาจารย์ผู้ควบคุมทีมและกลุ่มนักประดิษฐ์เยาวชนจากทั่วทุกภาคของประเทศที่ได้ส่งผลงานเข้าประกวดในปีนี้ จากผลประกาศรางวัลจะเห็นได้ว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่มีความสนใจที่จะพัฒนาเป็นนักวิจัยและ
สร้างนวัตกรรมในอนาคต โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ จึงถือเป็นเวทีสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทย ซึ่งจะนำไปสู่ช่องทางในการขยายฐานบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่จะเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศในอนาคต ดั่งคำที่ว่า “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม นำประเทศ” ผู้สนใจสามารถเข้าไปชมรายชื่อกลุ่มนักประดิษฐ์เยาวชนที่ได้รับรางวัลประเภทต่างๆได้ที่ รายละเอียดเพิ่มเติม https://inventorsday.nrct.go.th